admit & surgery ครั้งแรกจาก Chocolate Cyst ๒

Apivadee Piyatumrong
2 min readFeb 25, 2020

--

ตั้งแต่เกิดมา เพิ่งเคยมีประสบการณ์นัดหมายผ่าตัดเพียงสองครั้งคือ นัดให้คุณพ่อ ผ่าเข่า และนัดให้ตัวเองผ่าตัดเล็กฝ่ามือ ทั้งสองที่ทำที่ รพ.เอกชน ง่ายมาก ไม่มีอะไรเลย สะดวกสบาย แบบที่เราไม่ได้คิดด้วยซ้ำว่านี่เรากำลังได้รับการบริการแบบสะดวกสบายสุด ๆ

แล้วจักรวาลก็จัดสรร ให้เราได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ ๆ

เดินทางมา ศิริราช ตามนัดกับคุณหมอเพื่อคุยเรื่องการผ่าตัด สรุปรวบรัดคือการรอคิว พบหมอ แล้วเปิดตารางห้องผ่าตัด จิ้มวันกันเลยจ่ะ แบบไม่ทันตั้งตัว แบบรีบร้อน ประหนึ่งอยู่หน้า counter จองคอนเสิร์ตเป็ก ผลิตโชค หรือ GOT7… ก็สรุปว่าจิ้มวันไปหนึ่งวัน ไม่ใกล้ไม่ไกล จากนั้นคุณหมอก็ให้เอาเอกสารเดินไปทำเรื่องต่อที่ตึกผู้ป่วยนอก แผนกนรีเวช

เรื่องใหม่ ๆ ศัพท์ใหม่ ๆ ประสบการณ์ใหม่ ๆ

ต้องยอมรับว่าแค่นี้ก็เป็นเรื่องแปลกใหม่ มองหน้า งงๆ กับพ่ออยู่พักใหญ่แล้ว เดินถือแฟ้มประวัติไปตึกอื่น แผนกอื่น

ไปถึงพบคนไข้เต็มไปหมด วุ่นวาย และสับสนมากๆ

ที่พากันสับสนไปกันใหญ่ก็คือวันที่เรากับคุณหมอตกลงกันว่าจะทำการผ่าตัด แท้จริงแล้ว “ไม่ว่าง”… อ้าว!!! อะไรยังไง? อ่ะต้องเลือกวันกันใหม่ ไกลออกไปอีกนิด แล้วทำการนัดวันเพื่อเข้ามาตรวจเลือดเพื่อเตรียมการผ่าตัด และจองห้องพักผู้ป่วยอีกครั้งหนึ่ง

ในใจเริ่มกังวลละ เพราะกลัวว่าซีสจะแตกหรือเปล่าถ้าปล่อยไว้นาน จากวิธีการที่คุณหมอให้ปฏิบัติตัว เดินช้า ๆ งดกระโดด แถมวันก่อนลองนั่งรถตู้สาธารณะ ก็เจ็บท้องน้อยซ้าย จนต้องกุมท้องไว้… คุณแม่ยิ่งกังวลใหญ่เลย ด้วยเหตุผลเดียวกัน เลยตัดสินใจว่าจะลองขอไปผ่าตัดที่ปิยมหาการุณฯ ถ้าทำได้ แม้ว่าจะต้องจ่ายส่วนต่างที่แพงขึ้นก็ตาม

มาพบคุณหมออีกครั้งที่ปิยการุณฯ​ ซึ่งคุณหมอไม่เห็นด้วย เนื่องจาก การได้เลื่อนเร็วขึ้นสองสัปดาห์ กับค่าใช้จ่ายที่ประเมินไม่ได้ คุณหมอลงความเห็นเพิ่มยา เพื่อลดอาการ และรอวันผ่าตัดที่ได้นัดหมายไว้

กลับไปที่ศิริราชตามนัดหมายตรวจเลือดเตรียมการผ่าตัดแต่เช้า…​โอ้แม่เจ้า… สภาพโรงพยาบาลขนาดใหญ่ มีผู้ป่วยแน่นขนัด เตียงผู้ป่วยนอนเรียงรายข้างทาง รถเข็นผู้ป่วยเข้าคิวรอรับการบริการ เห็นแล้วเข้าใจพ่อที่ไม่อยากให้เป็นหมอขึ้นมาทันที ยังดีที่การบริหารจัดการของโรงพยาบาลมีประสิทธิภาพที่ดีทีเดียว คิวรันเร็ว แม้เห็นตัวเลขคิวแล้วตกใจมาก การจ่ายเงินมี Kiosk จ่ายเองได้ทันที การเจาะเลือดทำกันเป็นฟาร์มรีดโคนม รวดเร็วมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ เสร็จสรรพทั้งสิ้นสนนเวลาไปเพียงหนึ่งชั่วโมง ถือว่าเร็วมากเมื่อเทียบกับสภาพที่เห็นค่ะ

แต่ถ้าถามสภาพจิตใจ โอ้ เหนื่อยมากนะคะ ใช้พลังงานของผู้ป่วยเยอะมากกับการมาโรงพยาบาลพร้อมความเจ็บป่วยและต้องดำเนินการสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทั้งหมด

เข้าคิว จ่ายเงิน รับบริการ ยื่นเอกสาร รับใบนัด เดินเอกสารไปแผนกอื่น รอคิว คัดกรอง COVID-19 วัดความดัน ซักประวัติ รอคิว รับบริการ เดินไปแผนกอื่น ยื่นเอกสาร จ่ายเงิน รอคิว รับบริการ…

ให้กำลังใจทั้งผู้ป่วย ทั้งบุคลากรที่ใช้ในการจัดระเบียบ และให้บริการ แถมยังต้องดูแลสภาพจิตใจผู้ป่วยด้วย

ไปนั่งรอผลเลือดที่ นรีเวช ผู้ป่วยนอกอีกครั้งค่ะ คราวนี้พอผลเลือดทั้งหมดมาว่าเราสามารถรับการผ่าตัดได้ เลือดผ่านการ cross match แล้วว่ามีเพียงพอในคลังธนาคารเลือด (ถึงตรงนี้น้ำตารื้นคิดถึงจารย์เหมียวเลยค่ะ ถ้ามีธนาคารเลือดที่มีเทคโนโลยีเก็บรักษาเลือดแมวไว้ได้คงดี สุขภาพพร้อมเมื่อไร กลับไปบริจาคเลือดอีกแน่นอน) ก็ถึงเวลาจองห้องพักผู้ป่วยในกันค่ะ

ช็อคอีกครั้ง เมื่อพยาบาลบอกว่าวันผ่าตัดเลื่อนเร็วขึ้น สองอาทิตย์ (วันที่เรานัดกับคุณหมอครั้งแรก) แว่บแรกคือ เอ๊ะ เข้าใจผิดเชิงเอกสาร หรือระบบฯอะไรหรือเปล่าคะ เพราะนัดเอาไว้ปลายเดือน พยาบาลผู้ใหญ่บอกว่า ห้องผ่าตัดว่างแล้ว และได้คอนเฟิร์มกับคุณหมอเรียบร้อย แต่ตารางงานอีนี่สิ ที่จะวุ่นวาย …เอาเหอะ… ถึงจังหวะนี้แล้ว ปล่อยวางงานไปบ้างก็ได้ ผ่าตัดให้มันเสร็จ ๆ จะได้กลับมาเป็นปกติเสียที ปล่อยมือจากตารางงานที่วางไว้ใน Calendar ทีมตรงหน้า แล้วตอบตกลงพี่พยาบาลไป

สุดท้ายก็ได้ผ่าตัดเร็วขึ้น เย่!!! แต่นั่นก็หมายถึงเวลาเตรียมตัวที่น้อยลง!!!

เอาล่ะ ถ้าย้อนเวลากลับไปได้จะทำอะไรบ้างนะคะ สำหรับท่านที่วางแผนผ่าตัดซีสแบบส่องกล้องนะคะ ถ้าย้อนเวลากลับไปได้เราจะ ฟิตกล้ามท้อง และกล้ามแขน-ขา มากกว่านี้ค่ะ เพราะหลังผ่าตัดเราจะไม่สามารถออกกำลังกายได้เลย (เราขอไม่นับการเดินเบา ๆ ว่าเป็นการออกกำลังกายนะ) และเราต้องใช้ขา และแขนในการพยุงร่างที่เจ็บปวดทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรต้องทำหลังผ่าตัดทั้งหมดค่ะ โดยลดอาการที่จะต้องเกร็งช่วงท้องทั้งหมดไปเพื่อให้แผลได้สมานตัวได้ดี ไม่เกิดการปลิ ฉีกขาดของแผล

สิ่งที่เตรียมตัวจริง ๆ มีอะไรบ้างนะคะ

  1. ห้องพักฟื้นหลังกลับมาอยู่ที่บ้านค่ะ สถาพคือต้องขึ้นเตียงลงเตียงแบบคนป่วยได้สะดวก (พยาบาลจะสอนอีกครั้งถึงวิธีการก่อนการผ่าตัดค่ะ) และมีอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นอยู่ใกล้มือ และไม่ต้องก้ม ไม่ต้องย่อตัว ใช้การนั่งเก้าอี้ หรือยืนทำได้อย่างสะดวก เช่น การเป่าผมให้แห้ง การหยิบชุดเปลี่ยนเสื้อผ้า การหยิบน้ำดื่ม การชาร์จโทรศัพท์ และคอมพิวเตอร์ จุดวางของต่างๆ เป็นเรื่องสำคัญ เพราะหลังผ่าตัดเราจะไม่สามารถยกของได้เองมากนัก ของที่ยกได้คือของเบา ๆ เท่านั้น และขอให้เชื่อเหอะว่า เราจะไม่รู้ว่าต้องเบาแค่ไหน เราถึงจะยกได้ จนกว่าจะเจ็บ… ปล. อย่ายก laptop หรือหนังสือปกแข็งนะจ๊ะ สัปดาห์แรก
  2. ห้องน้ำ ที่จะใช้อาบน้ำ เนื่องจากเราจะมีแผ่นพลาสเตอร์ปิดแผลกันน้ำกลับมาด้วย แต่มันก็ไม่ได้การันตี ว่าน้ำจะไม่ซึมไม่รั่ว เราต้องดูแลแผ่นพลาสเตอร์ตลอด สังเกตแผลตลอด การอาบน้ำต้องทำแบบฝักบัวเท่านั้น และแน่นอนว่าต้องระวังเรื่องการลื่นเป็นพิเศษ ปล. ตอนแรกเรากังวลเกี่ยวกับการลุก-นั่งสำหรับการถ่ายด้วยนะ ปรากฏว่าเอาเข้าจริง ๆ ก็ไม่ได้แย่อย่างที่คิด แต่การมีที่จับ แบบที่โรงพยาบาลมีก็ถือว่าเป็นอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่ดีละกัน นอกจากนี้ เราควรเตรียมผ้าอนามัยไว้ให้มากพอและหยิบได้สะดวก เพราะหลังผ่าตัดจะมีเลือดที่ไหลผ่านช่องคลอดออกมา ซึ่งเกิดจากการผ่าตัด และสามารถไหลออกมาได้ตลอดช่วงสองสัปดาห์แรกหลังผ่าตัด… (น่ากลัวชะมัด TT__TT)
  3. พื้นที่เดินเล่นได้ โดยไม่ต้องลงบันได โชคดีที่ชั้นสองของบ้านยังพอมีที่ให้เดินและหย่อนใจ แต่บอกเลยว่าถ้าไม่มีที่ให้เดินได้สะดวก ๆ เห็นเดือน เห็นตะวัน อาจจะเฉาได้ การเดินนอกจากทำให้ท้องหายอืด ผ่านการเรอ หรือปุ๋ง-ปุ๋งแล้ว ยังช่วยให้ลำไส้กลับมาทำงานเป็นปกติอีกด้วย ซึ่งจะเป็นสัญญาณสำคัญอีกหนึ่งอย่างในการดูว่าร่างกายปกติหรือไม่

สามเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องเตรียมจริง ๆ ล่วงหน้าก่อนการผ่าตัด เอาให้คิดว่าใช้ชีวิตได้แน่ ๆ หนึ่งสัปดาห์ หรือมากกว่านั้น (หมอให้พัก 2–3 สัปดาห์ งดการขับรถค่ะ)

นอกจากเรื่องที่อยู่อาศัย หลับนอน การกิน การอาบน้ำแล้ว ก็เป็นเรื่องที่ทางโรงพยาบาลเค้าจะช่วยบอกเราเตรียมตัวทั้งหมดค่ะ ไว้มาต่อตอนหน้านะคะ วันนี้เริ่มเพลียแล้ว…

--

--

No responses yet